ตัดฟันต้นยางพาราในที่ดินที่ผู้อื่น โดยเข้าใจว่าที่ดินเป็นของตน จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่”

 

และมาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า  “เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น” 

“ส่วนควบ” หมายถึง ส่วนที่โดยสภาพของทรัพย์ เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย หรือทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง

 

ดังนั้น  เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นยางพารา กล่าวคือ  ต้นยางพาราที่ปลูกในที่ดินของผู้อื่นตกเป็นของเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่เจ้าของต้นยางพารา

 

การที่เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินเป็นของตนเอง  จึงเป็นเรื่องที่สำคัญผิดในข้อเท็จจริง  ซึ่งหากเข้าใจว่าเป็นเจ้าของที่ดินจริง ก็ย่อมมีสิทธิที่จะทำให้เสียหาย หรือทำลายต้นยางพารา โดยไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358

 

แม้รู้ว่าบุคคลอื่นเป็นผู้ปลูกต้นยางพารา และปรากฏภายหลังว่าตนเองไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ก็ไม่มีความผิด!!

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1423/2557

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่”  และมาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า  “เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น”  ดังนั้น  เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินพิพาท

ตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายปลูกต้นยางพาราในที่ดินพิพาทจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1310 วรรคหนึ่ง  ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง  ซึ่งบัญญัติไว้เช่นเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 144 วรรคสอง

กล่าวคือ  ต้นยางพาราที่ปลูกในที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาท  มิใช่เจ้าของต้นยางพารา  ส่วนเจ้าของที่ดินจะต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นแก่เจ้าของต้นยางพาราหรือไม่นั้น  เป็นเรื่องที่ต้องไปเรียกร้องกันในทางแพ่งอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า  จำเลยทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน  กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสำคัญผิดในข้อเท็จจริง  ซึ่งหากฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจริง  จำเลยทั้งสองก็ย่อมมีสิทธิที่จะทำให้เสียหาย หรือทำลายต้นยางพาราซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้วได้โดยไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358

แม้จำเลยทั้งสองรู้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้ปลูกต้นยางพาราและปรากฏภายหลังว่าจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท  จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิด  ทั้งนี้  ตาม ป.อ.มาตรา 62

 

มาตรา 358  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 62 วรรคแรก  ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,566