เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ยังไม่มีการแบ่งแยกกันเป็นสัดส่วน จะอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์ ได้หรือไม่

ครอบครองปรปักษ์ คือ การแย่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง มีได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ สำหรับการครอบครองปรปักษ์อสังหาริมทรัพย์มีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ดังนี้

 

1. ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของผู้อื่น

2. โดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ

3. ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี (5 ปี สำหรับสังหาริมทรัพย์)

 

          “ผู้อื่น” หมายถึง ทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่

         

          “สงบ” หมายถึง เป็นการเข้าไปครอบครองโดยไม่มีการใช้กำลังบังคับ ไม่มีใครมาขับไล่ ฟ้องร้อง

         

          “เปิดเผย” หมายถึง ไม่ได้มีการปิดบังอำพราง หรือซ่อนเร่นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น

 

การครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น นอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ยังจะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย

 

หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองหรือที่ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ยังไม่มีการแบ่งแยกกันเป็นส่วนสัด ก็ไม่มีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 9394/2557

          การครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น นอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ยังจะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย

หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองหรือที่ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ยังไม่มีการแบ่งแยกกันเป็นส่วนสัด ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่

ผู้ร้องยื่นคําร้องขออ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่ผู้ร้องและ บ. ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย บ. ขายที่ดินพิพาทไปให้ผู้อื่น แม้ผู้ร้องยื่นคําร้องขอมุ่งประสงค์จะกล่าวอ้างเรื่องการครอบครองปรปักษ์ แต่ผู้ร้องบรรยายคําร้องขอยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกันในลักษณะผู้ร้องเป็นเจ้าของอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งที่ดินกัน ผู้ร้องและ บ. จึงต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทคนละเท่าๆ กัน ในทุกส่วนของที่ดินพิพาท การที่ผู้ร้องอ้างว่า บ. นําที่ดินพิพาทไปขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทส่วนของ บ. เมื่อ บ. ขายที่ดินพิพาทไป ผู้ซื้อได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 2 ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวมของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ในทุกส่วนของที่ดินพิพาท ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของผู้ร้องเอง

 

มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,150