หากการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง ทำให้แปลงใดแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมใช้ทางเดิมที่เคยใช้เข้าออกก่อนที่จะแบ่งได้

หากการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง ทำให้แปลงใดแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมใช้ทางเดิมที่เคยใช้เข้าออกก่อนที่จะแบ่งได้

        มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากการแบ่งแยกที่ดินไม่ว่าจะเป็นจากการแบ่งทรัพย์มรดก หรือแบ่งที่ดินจากการซื้อขาย หรือให้โดยเสน่หา จนเป็นเหตุทำให้ที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะออกสู่ทางสาธารณะจากที่ดินแปลงที่เคยรวมกันมาก่อนได้ แต่หากที่ดินที่ได้ทำการแบ่งแยกแล้วนั้นไปใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะอื่น ย่อมแสดงว่าที่ดินแปลงนั้นไม่จำต้องใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะจากที่ดินแปลงก่อนอีกต่อไป สิทธิ์เรียกร้องดังกล่าวย่อมหมดลง


        ตัวอย่าง นายพรชัยและนายนพพร เป็นสองคนพี่น้อง ได้ที่ดินมรดกมาจากบิดาของตนเองและภายหลังต่อมาได้ทำการแบ่งที่ดินออกเป็นสองแปลง ทำให้ที่ดินของนายพรชัย ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เนื่องจากเมื่อแบ่งที่ดินแล้ว ทางออกสู่ทางสาธารณะนั้นถูกที่ดินของนายนพพรซึ่งหลังจากแบ่งแยกกันแล้วขวางทางอยู่ นายพรชัยย่อมร้องขอต่อศาลใช้สิทธิ์ทางจำเป็น ขอจดภาระจำยอมกับนายนพพรเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเดิมได้ตามกฎหมาย มาตรา 1350 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย


        อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2540 โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 7836 และ 7838 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1694 ของจำเลยซึ่งจำเลยได้แบ่งแยกขายให้ผู้อื่นแล้วโอนต่อมาจนถึงโจทก์ จำเลยได้ตกลงกับผู้ซื้อให้มีถนนยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 3 เมตร เพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ปรากฏตามแผนที่ทางพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นตาม ป.พ.พ.ขอให้บังคับจำเลยให้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเลขที่1694 ทางด้านทิศใต้ซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์มีความกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินให้เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7836 และ 7838 ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ คำขอท้ายฟ้อง ภาพถ่ายโฉนดที่ดินเลขที่ 7836 และ7838 ของโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 แผนที่ทางพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และภาพถ่ายโฉนดที่ดินเลขที่ 1694 ของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้ว ปรากฏว่าเมื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1694 ของจำเลยแล้วมีจำนวนทั้งหมด 17 แปลง และที่ดินโฉนดเลขที่ 7836 และ 7838 ของโจทก์ 2 แปลง ถูกที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกดังกล่าวอีก 15 แปลง ล้อมอยู่ทุกด้าน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างว่าที่ดินของจำเลยที่แบ่งแยกเป็นเหตุให้ที่ดิน 2 แปลง ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยเปิดทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกได้ ตามป.พ.พ.มาตรา 1350 คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1694 ของจำเลยกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7836 และ 7838 ของโจทก์หรือไม่


        ที่ดินของโจทก์เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินของจำเลยต่อมาเมื่อจำเลยแบ่งแยกขาย ที่ดิน 2 แปลง ของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ดังนั้น การที่จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1694ออกเป็นที่ดินแปลงย่อยรวมทั้งที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินอันเป็นทางจำเป็นบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1694 ของจำเลยซึ่งอยู่ติดทางสาธารณะเพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350


        ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1350 บัญญัติให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นโดยผลของกฎหมาย โจทก์มีสิทธิแต่เพียงให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้เท่านั้น โดยจำเลยไม่จำต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก

        มาตรา 1350 ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,568