หนี้ขาดอายุความแล้ว หากลูกหนี้ทำหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ และจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันหรือไม่

หนี้ขาดอายุความแล้ว หากลูกหนี้ทำหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ และจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันหรือไม่

            อายุความสะดุดหยุดลง” หมายความว่า ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และจะเริ่มนับอายุความใหม่

                เช่น หนี้เงินกู้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง คือ นับแต่วันที่หนี้ถึงกำหนดชําระ ถ้าหนี้ถึงกำหนดชําระ 9 ปี แล้วลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ ในปีที่ 9 ครึ่ง ลูกหนี้นําเงินไปชําระบางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) ซึ่งมีผลตามมาตรา 193/15 คือ 9 ปีครึ่งที่ผ่านไปแล้วจะไม่นับเข้าในอายุความ เริ่มนับ 1 ใหม่ ในวันที่ลูกหนี้ไปชําระหนี้บางส่วน แล้วนับไปอีก 10 ปี

 

            “เป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกัน” หมายความว่า การเริ่มนับอายุความใหม่นี้มีผลไปถึงผู้ค้ำประกันด้วย ความรับผิดของผู้ค้ำประกันก็ต้องยืดไปอีก 10 ปี

การรับสภาพหนี้(ปรับโครงสร้างหนี้) จะต้องรับในระหว่างที่ยังอยู่ในกำหนดอายุความ จึงจะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย  แต่ถ้าลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว(การรับสภาพความรับผิด) เป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ

การสละประโยชน์แห่งอายุความมีผลเสียหายเฉพาะแก่ลูกหนี้เท่านั้น ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ค้ำประกัน ตามมาตรา 193/24

 

คำถาม : หนี้ขาดอายุความแล้ว หากลูกหนี้ทำหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ และจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันหรือไม่

 

คำตอบ : การทำหนังสือปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงการรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ(ไม่ใช่การรับสภาพหนี้) ซึ่งไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและไม่เป็นโทษหรือกระทบถึงสิทธิของผู้ค้ำประกัน

 

            คำพิพากษาฎีกาที่ 14285/2558

สัญญากู้ยืมเงินฉบับแรก ลูกหนี้ที่ 1 ตกลงชําระหนี้ตามสัญญาให้ครบถ้วนภายในวันที่ 3 มีนาคม 2536 ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดในวันครบกำหนดชําระหนี้ตามสัญญาในวันที่ 3 มีนาคม 2536 และสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองลูกหนี้ที่ 1 ตกลงจะชําระหนี้คืนตามสัญญาให้ครบถ้วนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เบิกเงินกู้งวดที่ 1 ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดในวันครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เบิกเงินกู้งวดที่หนึ่งซึ่งผู้ร้องมิได้นําสืบไว้ ต้องถือว่าลูกหนี้ที่ 1 เบิกเงินกู้ดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ววันครบกำหนดชําระหนี้คืนอันถือว่าเป็นวันผิดนัด คือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2536 ส่วนสัญญากู้ยืมฉบับที่สาม ไม่มีกำหนดเวลาชําระหนี้ตามสัญญา เจ้าหนี้เดิมผู้ให้กู้สามารถเรียกให้ชําระหนี้เงินกู้ได้ตั้งแต่วันทำสัญญา อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดหรือนับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 25 ธันวาคม 2535 ซึ่งเป็นเวลาขณะที่เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินตามกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามมาตรา 193/30

แม้ลูกหนี้ที่ 1 ทำหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้องวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ยอมรับว่าเป็นหนี้ต่อผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อนับตั้งแต่เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ในขณะนั้นเป็นเวลาเกินสิบปีซึ่งขาดอายุความแล้ว จึงเป็นเพียงการรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ซึ่งไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และจะอ้างความข้อนี้เป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ผู้ค้ำประกันด้วยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคสอง

ลูกหนี้ที่ 4 มิได้มีส่วนร่วมในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แม้ตามข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันที่ลูกหนี้ที่ 4 ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิมระบุว่า “ในกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ชําระหนี้หรือไม่สามารถชําระหนี้ได้ลูกหนี้ที่ 4 ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะต่อสู้ ให้เจ้าหนี้เดิมบังคับเอาชําระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ชั้นต้นก่อนเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิด และจะไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ชั้นต้นขึ้นต่อสู้ว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดเพราะหนี้นั้นขาดอายุความเรียกร้องจากลูกหนี้ชั้นต้นทั้งยอมสละสิทธิที่จะยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นและของผู้ค้ำประกันขึ้นต่อสู้ทั้งสิ้น” ก็ตาม แต่ตามข้อตกลงดังกล่าวก็หาตัดสิทธิของผู้ค้ำประกันที่จะยกอายุความของตนขึ้นต่อสู้ไม่ ทั้งการที่ลูกหนี้ชั้นต้นสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว แต่ก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24

ประกอบกับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เช่นกัน

เมื่อนับแต่ลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชําระหนี้หรือวันที่เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ที่ 4 ผู้ค้ำประกันได้ จนถึงวันยื่นคําร้องนี้เกินสิบปีแล้ว คดีของผู้ร้องสำหรับลูกหนี้ที่ 4 ขาดอายุความ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคําร้องขอให้ลูกหนี้ที่ 4 ล้มละลายตามพระราช กำหนดบรรษัทบริหารสิทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่

           

            มาตรา 685/1  บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ

           

มาตรา 694  นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

 

            มาตรา 692  อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย


         ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,521