ลูกหนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันหรือไม่

ลูกหนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันหรือไม่

 

          “อายุความสะดุดหยุดลง” หมายความว่า ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และจะเริ่มนับอายุความใหม่

                เช่น หนี้เงินกู้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง คือ นับแต่วันที่หนี้ถึงกำหนดชําระ ถ้าหนี้ถึงกำหนดชําระ 9 ปี แล้วลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ ในปีที่ 9 ครึ่ง ลูกหนี้นําเงินไปชําระบางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) ซึ่งมีผลตามมาตรา 193/15 คือ 9 ปีครึ่งที่ผ่านไปแล้วจะไม่นับเข้าในอายุความ เริ่มนับ 1 ใหม่ ในวันที่ลูกหนี้ไปชําระหนี้บางส่วน แล้วนับไปอีก 10 ปี

 

          “เป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกัน” หมายความว่า การเริ่มนับอายุความใหม่นี้มีผลไปถึงผู้ค้ำประกันด้วย ความรับผิดของผู้ค้ำประกันก็ต้องยืดไปอีก 10 ปี

         

          คำถาม : ลูกหนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันหรือไม่

 

          คำตอบ :  เป็นโทษแก่ผู้ค้ำด้วย กล่าวคือ ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 10095/2558

          สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ถึงแม้ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด การที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอลดวงเงิน แสดงว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้เดิมย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องคือนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2543 และวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ตามลำดับ เมื่อต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ว่า เพียง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2548 ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้อง 268,157,036.43 บาท ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 3 ผู้ค้ำประกันด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 และมาตรา 193/14 ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2552 ผู้ร้องนำสิทธิเรียกร้องมายื่นคำร้องขอคดีนี้วันที่ 8 มิถุนายน 2553 คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ

         

คำพิพากษาฎีกาที่ 14013/2558

สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้และค้ำประกัน กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ที่ 1 ผู้กู้ตกลงชําระเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2540 และลูกหนี้ 2 ผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการที่ธนาคาร ม. ผู้ให้กู้ตกลงลดหนี้ และ *ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 เมื่อลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้ ธนาคารดังกล่าวและผู้ร้องสามารถบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 วันที่ 2 ธันวาคม 2548 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ลูกหนี้ที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้อง โดยยอมรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคสอง ทั้งนี้ที่อายุความสะดุดหยุลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 2 ผู้ค้ำประกันด้วย ตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ มาตรา 692 เมื่อนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคําร้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ

 

          *หมายเหตุ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า

          มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น

ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้

          ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ

 

          มาตรา 692  อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย


          ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,280