ประกาศขายของหน้าเฟสแล้วส่งของไม่ตรงเป็นความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน”


ประกาศขายของหน้าเฟสแล้วส่งของไม่ตรงเป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน

ฉ้อโกงประชาชนนั้นบางท่านอาจจะเคยผ่านตามาบ้างแล้ว แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือหลงกลตามที่มิจฉาชีพวางแผนไว้ ฉ้อโกงประชาชนนั้นไม่ได้นับกันที่จำนวนผู้เสียหาย แต่ดูที่วิธีการหลอกลวงโดยแสดงข้อความเป็นที่แพร่หลาย เข้าถึงได้ง่าย เป็นที่เสียหายแก่ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรจะรู้ เพื่อหวังจะได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ที่ถูกหลอก

ตัวอย่าง นาย เอ. ได้คิดที่จะทำธุรกิจเครือข่าย โดยได้ประกาศทางหน้าโปรแกรมเฟสบุ๊คของตนเองแล้วเปิดเป็นสาธารณะว่า รับงานเย็บลูกปัดมา 300 งาน ทำไม่ทันต้องการแบ่งให้กับเพื่อนๆ ในเฟสได้มีโอกาสสร้างรายได้โดยคิดค่าอุปกรณ์งานละ 500 บาท หากทำงานเสร็จแล้วส่งกลับมาให้กับตนเอง จะได้ค่าตอบแทน 650 บาทต่องาน ปรากฏว่ามีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ได้ทำการโอนเงินมาให้กับนาย เอ 150,000 บาท เมื่อคนที่รับงานทำเสร็จส่งกลับมายังนาย เอ ปรากฏว่านาย เอ ไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้ตามที่ประกาศไว้ จึงเป็นการหลอกลวงหรือปกปิดข้อความซึ่งบุคคลทั่วไปควรจะได้รับทราบ โดยหวังประโยชน์เป็นตัวเงิน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645/2548 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว

ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป

หรือ กรณีตัวอย่างคำพิพากษาที่ไม่เป็นฉ้อโกงประชาชนแม้จะจำนวนเยอะก็ตาม ฎีกาที่ 3334/2560 ผู้กระทำความผิดได้ส่งหนังสือปลอมไปยังผู้เสียหายแต่ละคน เพื่อหลอกลวงว่าจะทำการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำงวดที่ระบุไว้ในหนังสือ และคณะกรรมการออกสลากได้ทำการล็อคเลขท้ายสามตัวของรางวัลที่ 1 และอนุมัติให้ผู้เสียหายดังกล่าวแต่ละคนมีสิทธิได้รับตัวเลขดังกล่าวถ้าประสงค์จะทราบตัวเลขให้โทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ซึ่งเป็นความเท็จ เมื่อผู้เสียหายแต่ละคนได้รับจดหมายทำให้หลงเชื่อและได้โทรศัพท์ไป ผู้กระทำจึงหลอกลวงให้ผู้เสียหายแต่ละคนให้โอนเงิน แม้จำเลยจะหลอกลวงคนได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เพราะการหลอกลวงโดยส่งจดหมายไปให้ทีละคน มิใช่เป็นการหลอกลวงแก่บุคคลทั่วไป อันจะเข้าลักษณะการหลอกลวงประชาชนตาม ป.อาญา มาตรา 343

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วางหลักไว้ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer

 


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,539