ผู้จัดการมรดกไม่จัดแจงทรัพย์สินให้แก่ทายาท กลับใส่ชื่อของตนเองไว้เป็น “ยักยอกทรัพย์มรดก”


ผู้จัดการมรดกไม่จัดแจงทรัพย์สินให้แก่ทายาท กลับใส่ชื่อของตนเองไว้เป็น “ยักยอกทรัพย์มรดก          

ปัญหาพี่น้องทะเลาะกันเหตุเกิดจากการแบ่งทรัพย์มรดกไม่เคลียร์หรือมีการแอบโอนเป็นของตนเองเกินกว่าที่ควรจะได้ ทำให้ทายาทคนอื่นเกิดความเสียหายก็มีเยอะ ซึ่งเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามกฎหมายอาญาได้ ท่านต้องตรวจสอบทรัพย์สินให้ดีว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้างมิเช่นนั้นจะเป็นการเสียประโยชน์จากกองมรดก

          ตัวอย่าง นางวิภา(ผู้ตาย) มีสามีคือนายโกสน จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรด้วยกันทั้งหมด 5 คน ระหว่างมีชีวิตนั้นผู้ตายเป็นคนเรียนหนังสือเก่งและขยันทำงาน จึงมีทรัพย์มรดก คือที่ดินจำนวน 100 ไร่ เงินสดอีก 20 ล้านบาทเป็นทรัพย์มรดก และได้ตั้งนายโกสน สามีเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก เพื่อที่จะนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแบ่งกับทายาท คือตนเอง และลูกๆ อีก 5 คน เท่าๆ กัน ปรากฏว่าหลังจากนางวิภาถึงแก่ความตาย นายโกสนได้ไปติดพันสาวคาราโอเกะและรักใคร่กัน เป็นเหตุที่ไม่อยากจะแบ่งทรัพย์สินให้แก่ลูก เพื่อที่จะนำไปสร้างอนาคตกับรักครั้งใหม่ของตน จึงทำการฮุบเงินจำนวน 10 ล้านบาท และ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 80 ไร่เป็นของตนเอง และนำส่วนที่เหลือไปแบ่งกับลูกๆ ทั้ง 5 คน

          จากตัวอย่างนายโกสนในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดกของทายาททุกคน จะต้องทำการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามส่วนที่ควรจะได้ตามกฎหมาย กลับเบียดบังทรัพย์อันเป็นเงินและที่ดินอันมรดกมาเป็นของตนเองโดยเจตนาทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และ ยักยอกทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 และ 354   

อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2554 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353,354 ประกอบด้วยมาตรา 86

 

มาตรา 352  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 353  "ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

มาตรา 354  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,479