ทายาทแอบยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนย่อม “หมดสิทธิรับมรดก” ในส่วนนั้น


ทายาทแอบยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนย่อม หมดสิทธิรับมรดก” ในส่วนนั้น         

เรื่องการแอบโอน แอบขายทรัพย์มรดกหรือประพฤติเนรคุณเจ้ามรดกนั้น มีมานานแล้ว หลายท่านอาจจะเห็นผ่านตามาบ้างตามข่าว แต่หากเกิดกับตัวเองนั้นจะมีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะสามารถจัดการกับการกระทำเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกกำจัดไม่ได้รับมรดกได้

          ตัวอย่าง นายสนิทมีลูกทั้งหมด 3 คน คือ ก. ข. และ ค. ตามลำดับ เมื่อนายสนิทถึงแก่ความตายได้มีที่ดินมรดกอยู่จำนวน 10 ไร่ซึ่งมีนาย ข. ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรทำสวนข้าวโพดอยู่ในขณะนั้น ได้ร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก และ ได้รับความยินยอมจาก ก กับ ค ต่อมาปรากฏว่านาย ข ได้ไปโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกในฐานะผู้จัดการมรดกมาเป็นของตนเองและประกาศขายที่ดินดังกล่าว จึงทำให้ ก  และ ค เสียหาย เนื่องจาก การที่ ข โอนที่ดินมรดกมาเป็นของตนเองนั้นย่อมแสดงว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ทายาทคนอื่น อันเป็นการยักย้ายทรัพย์สินทำให้ทายาทอื่นเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 1605 ย่อมถูกตัดสิทธิ์มิให้ได้รับมรดกในส่วนนั้นไป

อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539   ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ บ. โดย บ.มีบุตร 4 คน คือโจทก์ทั้งสองจำเลย และ จ. แต่ จ.ถึงแก่ความตายก่อน บ. โดย จ.มีบุตร 3 คน บ.ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ บ.เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของ บ.ทั้งหมดโดยการครอบครอง ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง 10 ปีก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้น แล้วจำเลยนำพยานหลักฐานมาไต่สวนในคดีดังกล่าวจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของบ.ในโฉนดเลขที่ 2505 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วจำเลยนำคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง

และตัวอย่างที่ไม่เป็นการยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์มรดกทำให้ทายาทอื่นเสียหาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2541  จำเลยได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37181, 37183 และ 3493 ไว้ และจำเลยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายจำนวน 2,790,425.74 บาท นำมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แล้วนำเงินมรดกดังกล่าวบริจาคให้วัด กับสร้างโบสถ์และซื้อที่ดินให้วัด การที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาทต่อไป ส่วนการบริจาคเงินมรดกก็เป็นการจัดการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยฝ่ายโจทก์ยินยอมไม่คัดค้าน ทั้งมารดาโจทก์และจำเลยต่างได้ร่วมกันจัดการศพผู้ตายตลอดจนปรึกษาหารือกันเรื่องทรัพย์มรดกมาโดยตลอด และจำเลยก็จัดการมรดกในลักษณะที่เปิดเผย ทั้งจำเลยได้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วและจะแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกอื่นให้อีก โดยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนรับโอนเพราะยังไม่พอใจในอัตราส่วนแบ่งมรดกเช่นนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล

มาตรา ๑๖๐๕  “ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,244