ตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงิน หรือหากตำรวจแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต!!

ตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงิน หรือหากตำรวจแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต!!

         

เมื่อมีกรณี ที่ท่านหรือคนใกล้ตัว อาจจะกระทำความผิด ละเมิดกฎหมาย ทั้งโดยจงใจหรือเพราะประมาท ถ้าหากเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่ ประพฤติตนไม่ถูกต้อง เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่เรียกรับสินบน แลกกับการไม่จับกุม หรือสอบสวนดำเนินคดีให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเช่นเดียวกัน ถ้าหากท่านไม่ได้ทำความผิดใดๆ แต่ด้วยความบังเอิญ หรือความไม่ตั้งใจ ทำให้ท่านถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม หรือแจ้งข้อกล่าวหา โดยที่ท่านไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด แล้วเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี ย่อมถือได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นกระทำผิดตามกฎหมาย

         คำถาม : ในกรณีที่ท่าน อาจกระทำความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือ ประมาท ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแล้ว เรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี หรือในกรณีที่ท่านไม่ได้กระทำความผิด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แล้วแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี ตำรวจจะมีความผิดอย่างไรหรือไม่

     คำตอบ : เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้มีหน้าที่สืบสวน จับกุมผู้กระความผิดทางอาญา ถ้าหากไม่ทำการจับกุม แต่เรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี หรือจับกุมแล้วแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อเรียกรับเงิน แลกกับการไม่ดำเนินคดีอาญาดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีความผิด

         

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1524/2551

          จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

         

คำพิพากษาฎีกาที่ 3309/2541

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า "ตามธรรมเนียม" คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว

และหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อไม่กระทำการในตำแหน่งคือไม่จับกุมตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149

แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหนจากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คน ดังนี้ เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่ากัน และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5973/2537

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันมิใช่การแกล้งกล่าวหา การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย ก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

 

มาตรา 148  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

 

มาตรา 149  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,555