ซื้อสินค้าแต่ได้ของมีตำหนิ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

ซื้อสินค้าแต่ได้ของมีตำหนิ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

          หากเราสังเกตดูว่าในชีวิตประจำวันของเรานั้น จะมีเรื่องความเสียหายที่เกิดกับผู้บริโภคกรณีที่ร้านชำ ห้างสรรพสินค้าหรือผู้ขายของออนไลน์ ส่งมอบของมีตำหนิ สินค้าหรือการติดตั้งสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และได้ส่งมอบให้กับผู้ซื้อมานั้น  ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นตัวเงินมากมาย แต่ก็เกิดคำถามว่าผู้ซื้อสามารถปฏิเสธไม่รับของหรือเรียกให้ชำระราคาตามคุณภาพสินได้หรือไม่

          ตัวอย่าง นางสปายเปิดร้านขายน้ำปั่นด้านหน้าตึก แต่พอถึงฤดูฝนกลับยังไม่ได้ติดตั้งหลังคากันฝนสาดมายังบริเวณที่ตนขายของ จึงติดต่อว่าจ้างให้บริษัทรับทำหลังคามาติดตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์กันแดดกันน้ำ ต่อมาเมื่อได้มีการติดตั้งหลังคากันสาดเป็นที่เรียบร้อย แต่วันดังกล่าวฝนไม่ตกเห็นเพียงแต่ว่าหลังคาที่ติดตั้งนั้น กันแดดได้ดี นางสปายจึงเซ็นรับมอบหลังคาให้ช่างไป ต่อมาเมื่อถึงคราวฝนตกกลับมีน้ำรั่วซึมลงมาจนไม่อาจเปิดร้านขายของต่อไปได้เป็นเหตุให้นางสปายเสียหายสามารถเรียกให้บริษัทรับทำหลังคานั้นรับผิดชอบได้

          เนื่องจากแม้จะมีการส่งมอบงานกันไปแล้วก็ตามแต่เหตุที่น้ำรั่วซึมลงมาจนทำให้นางสปายเปิดร้านขายของต่อไปไม่ได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นขณะตรวจรับงาน จึงไม่ถือว่านางสปายได้ตรวจรับสินค้าโดยที่ได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นแล้ว บริษัทติดตั้งหลังคาจะทราบหรือไม่ทราบหรือไม่ก็ตามว่าเหตุที่ตนติดตั้งหลังคาไม่เรียบร้อยนั้นจะเกิดขึ้น ก็ต้องรับผิดชอบต่อนางสปายในความบกพร่องนั้นอยู่ดี

อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558 โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น

            มาตรา 472  "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
            ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ "

            ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer




แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,193