เซ็นสัญญากู้ทิ้งไว้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินหรือข้อความ เจ้าหนี้มากรอกภายหลัง สัญญากู้ยืมใช้บังคับได้ “ไม่เป็นเอกสารปลอม”

หลายท่านอาจจะเคยเห็นหรือเจอด้วยตนเอง เวลาไปขอกู้ยืมเงินโดยเจ้าหนี้ให้เซ็นเอกสารทิ้งไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความใดๆ ในสัญญากู้ยืมมีเพียงลายเซ็นผู้กู้เท่านั้น และภายหลังเจ้าหนี้ได้มากรอกข้อความและจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

          ตัวอย่าง คือวันหนึ่งนายสมหวังได้ไปขอกู้ยืมนายสมคิดจำนวน 200,000 บาท นายสมคิดจึงได้ให้เงินจำนวนดังกล่าวแก่นายสมหวังและขอให้เซ็นสัญญากู้ยืมเงินทิ้งไว้ซึ่งในสัญญาไม่ได้กรอกข้อความใดๆ ไว้เลย โดยให้เหตุผลว่าเผื่อวันข้างหน้านางสมหวังอาจจะมากู้ยืมเงินกันอีก จะได้ทำสัญญากู้ยืมฉบับเดียว ต่อมาเวลาผ่านไปหลายเดือน นายสมหวังไม่เคยชำระเงินให้แก่นายสมคิดเลย นายสมคิดจึงกรอกข้อความและจำนวนเงินลงในสัญญา นำมาฟ้องต่อศาลในข้อหาผิดสัญญากู้ยืมเงิน

กรณีดังกล่าวนายสมหวังจะสู้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมไม่ได้เนื่องจากนายสมคิดได้กรอกข้อความ

ทุกอย่างตรงตามที่เคยได้ตกลงกันไว้และนายสมหวังก็มิได้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว ย่อมไม่ถือเป็นการปลอมแปลงเอกสารหรือนำออกใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 หรือ 268

พิพากษาศาลฎีกาที่ 5932/2538 โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารท้ายฟ้องจำนวน 20,200 บาท จำเลยให้การต่อสู้เรื่องสัญญากู้เป็นเอกสารปลอมเป็นประเด็นสำคัญ โดยอ้างเหตุว่าที่เป็นเอกสารปลอมเนื่องจากโจทก์ได้แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ฝ่ายเดียว แม้จำเลยจะอ้างในคำให้การ ด้วยว่าจำเลยไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ตามฟ้องก็ตาม แต่จำเลยก็หาได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าลายมือชื่อ ในช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อของจำเลยไม่ทั้งที่เป็นข้อสาระสำคัญ ที่จำเลยอาจยกขึ้นปฏิเสธในคำให้การได้ จึงเท่ากับจำเลยอ้างเหตุตั้งประเด็นไว้เฉพาะสัญญากู้ตามฟ้องเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้น บางส่วนเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้มิใช่ลายมือชื่อของจำเลยจึงต้องถือว่าจำเลยรับว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้เป็นลายมือชื่อของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบว่าลายมือชื่อผู้กู้เป็นลายมือชื่อปลอม และที่จำเลยนำสืบว่าได้ชำระเงินกู้ตามสัญญาโดยมีการเวนคืนเอกสารแล้วนั้น จำเลยก็ให้การว่า วันดังกล่าวจำเลยไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ หาได้ให้การเป็นประเด็นว่ามีการกู้เงินและชำระเงินกู้คืนแล้วไม่ จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบเช่นเดียวกัน การที่โจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้โดยการขีดฆ่าตัวเลขและตัวอักษรจากจำนวน 25,700 บาท เป็นจำนวน20,200 บาท และลงชื่อกำกับไว้เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลย และคดีนี้โจทก์แก้ไขจำนวนเงินที่กู้ให้ลดลงจากเดิม กลับจะเป็นประโยชน์แก่จำเลย สัญญากู้จึงไม่เป็นเอกสารปลอม และเป็นเอกสารที่สมบูรณ์รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4582/2543 แม้จำเลยที่ 1 จะทำสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมขึ้นมาโดยการปกปิดข้อเท็จจริงบางประการไว้ แต่หากไม่ได้ทำให้เนื้อความตามข้อสัญญาต้องเปลี่ยนแปลงไปมีความหมายเป็นอย่างอื่นหรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไปแทนที่ข้อเท็จจริงที่ปกปิดไว้แล้วย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ การปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้เช่นนั้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดทอนข้อความอันจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดหรือไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264

เมื่อสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมดังกล่าวไม่เป็นเอกสารปลอมแล้ว การที่จำเลยเบิกความในคดีอาญาอ้างถึงสัญญาดังกล่าวจึงไม่อาจถือว่าเป็นการเบิกความเท็จได้ เพราะได้มีการทำสัญญาดังกล่าวกันจริง ทั้งจำเลยก็เบิกความไปตามที่ระบุไว้ในสัญญานั้น อีกทั้งศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความที่ถูกปกปิดมิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 จึงมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

          ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264  " ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน " 

          และมาตรา 268 " ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

          ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว "

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,277