การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย และการจำหน่ายคดีชั่วคราวของศาล

ในการพิจารณาคดีหากทั้งโจทก์และจำเลยต่างมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลกระบวนการพิจารณาต่างๆก็ดำเนินไปได้ตามปกติ แต่หากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไป การพิจารณาคดีจะเป็นไปในรูปแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของคดี ซึ่งในคดีอาญากฎหมายให้ความสำคัญแก่การนำตัวจำเลยมาปรากฏต่อหน้าศาล เพราะหากปราศจากตัวจำเลยเสียแล้วกระบวนการพิจารณาและสืบพยานจะดำเนินไปมิได้และอาจเป็นเหตุให้ศาลจำหน่ายคดีนั้นออกจากสารบบความชั่วคราว ตามหลักกฎหมายที่ว่าการพิจารณาคดีอาญานั้นต้องดำเนินไปอย่างเปิดเผยต่อหน้าจำเลยตามหลักฟังความทุกฝ่ายที่จะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถต่อสู้ได้


การพิจารณาและสืบพยานคดีอาญา

การพิจารณาและสืบพยานในศาลต้องทำโดยเปิดเผยและกระทำต่อหน้าจำเลยเสมอ หลักการนี้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

            เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้วและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่

จะให้การต่อสู้อย่างไร คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป”


จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีหลักสำคัญในการสืบพยานอยู่ 2 ประการคือ

            1. การสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเสมอ ซึ่งจำเลยตามมาตรานี้หมายถึงบุคคลที่ถูกฟ้องมายังศาลแล้ว การที่กำหนดให้จำเลยต้องมีส่วนรับรู้การดำเนินการทั้งหลายในศาลเพราะกระบวนการต่างๆเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงการกำหนดให้กระทำต่อหน้าจำเลยเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดี และหากจำเลยไม่มาศาล การพิจารณาจะกระทำมิได้จะต้องเลื่อนคดี

            2. การสืบพยานต้องกระทำโดยเปิดเผย คือ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังได้ แต่มีข้อควรระวังคือการเปิดเผยนี้ต้องไม่เป็นไปในทางโฆษณาเชิญชวน เพราะตามหลักกฎหมายอาญานั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 27 ที่กำหนดให้ ”ในวันพิจารณาครั้งแรกเมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง...” ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏต่อหน้าศาลในขั้นตอนการพิจารณาได้ กระบวนการพิจารณาและสืบพยานก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว จนกว่าจะนำตัวจำเลยมาปรากฏต่อศาลได้ภายในอายุความ จึงจะให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปใหม่
การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เป็นอย่างไร?

            การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวมี 2 กรณีคือ กรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้กระทำได้โดยชัดแจ้งและกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งกรณีกฎหมายให้อำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้โดยชัดแจ้ง คือ ในคดีที่มีจำเลยหลายคนและจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้นเป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคสอง หรือจะไปเป็นตามหลักแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ในกรณีที่จำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้เมื่อได้รับคำยืนยันจากแพทย์ว่าจำเลยวิกลจริตจริงถ้าศาลเห็นสมควรจะจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความก็ได้ โดยเมื่อจำเลยได้รับการรักษาจนสามารถต่อสู้คดีได้แล้วให้โจทก์แถลงเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปได้ ถ้าโจทก์ไม่แถลงศาลเรียกแพทย์ผู้ตรวจจำเลยมาแถลงและกำหนดวันนัดพิจารณาได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่496/2536)
กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง

            คือ กรณีที่ศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้และจะทำให้คดีค้างอยู่ในสารบบความของศาลโดยใช่เหตุ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เช่น คดีที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วหลบหนี ถ้าศาลเห็นสมควรจะจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความก็ได้ เมื่อจับจำเลยได้แล้วหากยังอยู่ภายในอายุความให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
การพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยทำได้หรือไม่

โดยหลักแล้วการพิจารณาและสืบพยานกฎหมายบัญญัติให้ต้องกระทำโดยเปิดเผยและกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นให้ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาและสืบพยานไปโดยปราศจากตัวจำเลยได้ ที่เรียกว่า การพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลย ซึ่งหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ทวิ กำหนดว่า เมื่อจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ในคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกินสิบปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน

2. ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจคำแถลงของโจทก์ว่า การพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้

3. ในคดีที่มีจำเลยหลายคนถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
ในคดีที่ศาลพิจารณาและสืบพยานตาม (2) และ (3) ลับหลังจำเลยคนใด ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณาและการสืบพยานที่กระทำลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จำเลยคนนั้น

การพิจารณาลับ

ในการพิจารณาคดีนั้นศาลจะพิจารณาโดยไม่เปิดเผย คือ พิจารณาลับก็ได้ ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 กำหนดว่า “ศาลมีอำนาจสั่งพิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดแต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน”

เมื่อเป็นการพิจารณาลับบุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ โจทก์และทนายความ จำเลยและทนายความ ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยานและผู้ชำนาญพิเศษ ล่าม บุคคลที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล รวมถึงพนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นการพิจารณาลับก็ไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากตัวจำเลย ตัวอย่างเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2518 ศาลชั้นต้นสั่งให้นำสืบจำเลยบางคนเป็นการลับ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องลับที่สุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและเพื่อความปลอดภัยมั่นคงของราชอาณาจักรไทยจึงไม่กล่าวถึงรายละเอียดเรื่องราวต่างๆ บุคคล และสถานที่ที่เกี่ยวข้องไว้ในคำพิพากษา

สรุป

การพิจารณาและสืบพยานในคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเสมอ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลให้ดำเนินการพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินการพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุที่ศาลเห็นสมควรและจำเลยได้มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว และแม้จะเป็นการพิจารณาลับก็ต้องมีตัวจำเลยมาอยู่ร่วมในการพิจารณาเช่นกัน


ข้อมูล - นายสราวุธ เบญจกุล

รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,543