ข้อความที่ว่า “เดี๋ยวให้ประกันจัดการเอง” “จะเคลียร์กับประกันเอง” ไม่ใช่การสละสิทธิเรียกร้องบริษัทประกันภัยมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยค่าเสียหายเอากับผู้กระทำละเมิดได้

ในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น ในบางกรณีคู่กรณีก็อาจไม่ได้ทำประกันกันไว้เสมอไป หลายครั้งหลายหนที่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ตกลงกันได้ ณ ที่เกิดเหตุโดยไม่จำเป็นต้องไปลงบันทึกประจำวันกันที่สถานีตำรวจท้องที่ แต่บางกรณีก็ต้องมีการลงบันทึกประจำวันเช่นกัน

            ตามปกติแล้ว หากมีการลงบันทึกประจำวัน ตัวแทนจากบริษัทประกันภัยก็จะขอบันทึกประจำวันดังกล่าวไปด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติซ่อมแซมรถยนต์ให้กับลูกค้าแต่ละราย  โดยหากเห็นว่าลูกค้าของตนเป็นฝ่ายถูกกระทำละเมิด (หรือที่เรียกกันว่าฝ่ายถูก) แล้ว บริษัทประกันก็จะนำค่าเสียหายดังกล่าวที่ได้จ่ายให้กับลูกค้าของตน มาฟ้องเอากับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง(ฝ่ายผิด,ฝ่ายประมาท) หรือหากคู่กรณีได้ทำประกันภัยไว้เช่นกัน ก็เป็นเรื่องที่บริษัทประกันทั้งสองต้องไปว่ากล่าวกันเองต่อไป

            แต่ในบางกรณีนั้น หากมีการตกลงกันได้ หรือลงบันทึกประจำกันในเรื่องค่าเสียหายไว้เท่านั้นเท่านี้บาท ก็จะถือว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เมื่อฝ่ายที่เสียหายยอมรับเงินดังกล่าวไปครบตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วก็ย่อมถือว่าหนี้ระงับไปแล้ว บริษัทประกันไม่มีอำนาจดำเนินคดีอีก เช่น นาย A ขับรถโดยประมาท เฉี่ยวชนรถนาย B ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ โดยระบุว่านายยอมชดใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท ตามที่ นายBเรียกร้อง กรณีเช่นนี้หากนาย A ชำระเงินให้กับนายBแล้ว ก็ถือว่าหนี้ระงับไป ส่วนค่าเสียหายที่แท้จริงจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่า10,000 บาท หรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ นายAต้องชำระให้นายBอีก

            แต่สำหรับการลงบันทึกไว้ในทำนองว่า “เดี๋ยวให้ประกันดำเนินการ”,”จะเคลียร์กับประกันเอง” กรณีดังกล่าวไม่ใช่การตกลงสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือปลดหนี้ เพียงแต่เป็นการแสดงเจตนาว่าจะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น บริษัทประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยค่าเสียหายเอากับผู้กระทำละเมิดอยู่เช่นเดิม

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2558) ข้อตกลงที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความสรุปว่า ความเสียหายของรถยนต์พิพาทนั้น พ. ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทได้เรียกร้องจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยที่ 1 แสดงว่า พ. ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัย ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลงอันเป็นการระงับข้อพิพาทตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์พิพาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,433