ผู้ใดให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสด ไม่เคยมีคู่สมรส(อันเป็นความเท็จ)ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จ

          เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวชาวบ้านมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในเมืองหรือนอกเมือง ที่แต่งงานมีคู่สมรสกันแล้ว แม้ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม แต่ทั้งสองอย่างนี้ ทำให้สถานภาพของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปจาก “โสด” กลายเป็น “สมรส” ซึ่งทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ในทรัพย์สินที่มีอยู่ร่วมกัน เพราะหากจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินนั่นย่อมกลายเป็นสินสมรส หรือหากแต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันย่อมเป็นกรรมกสิทธิ์ร่วม หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมไปฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ และนอกจากนี้ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งที่แต่งงานแล้วยังแจ้งข้อความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า “โสด” ย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าหนักงานด้วยอีกด้วย มาดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกากันครับ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8739/2552  จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137

          เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง

          การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

 

          แต่ถ้าเคยจดทะเบียนสมรสและหย่าแล้ว แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเอง ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1237/2544   ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 การที่       จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเองการที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267

          กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 137  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 172  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 173  "ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"
          มาตรา 174  "ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๒ หรือมาตรา ๑๗๓ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
          ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,495