ตอนที่ 27 ครูโรงเรียนเอกชนถูกเลิกจ้าง ต้องฟ้องศาลแรงงานหรือฟ้องศาลปกครอง
ลูกจ้างซึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชนทั้งหลาย
คงจะทราบกันดีครับว่า
หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามสัญญาจ้างระหว่างครูโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนเอกชนนั้น
ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ตามมาตรา 86 พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน
พ.ศ.2550 กำหนดว่า “กิจการของโรงเรียนในระบบไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” แต่ตอนท้ายของกฎหมายดังกล่าวก็กำหนดว่า “แต่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”
กฎหมายตอนต้นบอกว่าไม่อยู่ในบังคับกฎหมายแรงงาน
แต่ตอนท้ายบอกว่า ต้องได้รับการปฏิบัติมาตรฐานไม่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน
แล้วเวลาเกิดเรื่อง จะฟ้องคดีต่อศาลไหน ระหว่าง ศาลแรงงาน กับ ศาลปกครอง
ผมว่าอาจารย์หลายท่านรู้ แต่หลายท่านยังไม่รู้
คำตอบคือ หากเกิดกรณีพิพาทที่มาจากสัญญาจ้างแรงงาน
ต้องฟ้องศาลแรงงานครับ เพราะแม้นว่ากฎหมายจะกำหนดว่าการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง
จะไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงาน
แต่ตอนท้ายของกฎหมายมาตราดังกล่าวก็กำหนดว่าต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติต่อกันไม่ต่ำกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ดังนั้น ครูโรงเรียนเอกชนย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง
มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
ดังนั้นเมื่อมีกรณีฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
หรือ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สิทธิต่างๆเหล่านี้เป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน เป็นสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
คดีต้องฟ้องต่อศาลแรงงานครับ
หมายเหตุ กรณีเคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ เลขที่ ๒๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
เคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดและชัดแจ้ง เข้าใจง่าย ว่าคดีประเภทนี้ต้องฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
ลูกจ้างที่เป็นอาจารย์โรงเรียนเอกชนทั้งหลาย ศึกษาเพิ่มเติมได้ครับ และหมายเหตุเพิ่มเติมคือ
อาจารย์โรงเรียนเอกชนทั้งหลายขอให้ศึกษากฎหมายแรงงานให้ดีๆครับ
เพราะท่านมีสิทธิเรียกร้องหรือมีกฎหมายรับรองสิทธิของท่านว่าท่านต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน
ดังนั้นหากข้อสัญญาในส่วนใดของท่านต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด
ท่านสามารถนำเรื่องไปฟ้องศาลแรงงานบังคับได้
By ทนายนำชัย ปรึกษากฎหมาย โทร 086-3314759 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments