เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ความเป็นผู้จัดการมรดกก็อาจสิ้นสุดลงได้ด้วย 5 เหตุดังต่อไปนี้

          1. เมื่อผู้จัดการมรดกตาย เนื่องจากสิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อผู้จัดการมรดกตายลงทายาทของผู้จัดการมรดกจึงไม่สามารถจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อไปได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2516  การเป็นผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ที่ได้รับการตั้งเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถึงแก่กรรม การเป็นผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาของจำเลยว่าสมควรจะถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ อีกต่อไป จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา คืนค่าตัดสินและค่าคำบังคับ   
          2. เมื่อผู้จัดการมรดกลาออก หมายความว่า เมื่อผู้จัดการมรดกนั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลนั้น การลาออกจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ลาออกแล้วความเป็นผู้จัดการมรดกก็ยังไม่สิ้นสุดลง หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในระหว่างนี้ ผู้จัดการมรดกก็ต้องรับผิดชอบ
          3. ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก แต่การยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกต้องยื่นก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นตามมาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2552   คำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนระบุว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ทำให้ทายาทอื่นที่จะได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกได้รับความเสียหาย โดยผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านเป็นทำนองปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เนื้อหาตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 จึงแสดงรายละเอียดชัดเจนแล้วว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้มายื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นจำต้องไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อฟังพยานหลักฐานจากผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องให้ครบถ้วนกระบวนความเสียก่อนว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ตามคำร้องขอหรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรที่ศาลจะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งผู้ร้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1728 ถึง 1733 ซึ่งถือเป็นสาเหตุอย่างอื่นที่ศาลอาจเห็นว่าเป็นเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียก็ได้หรือไม่ โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านที่ 2 มี

เนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเคยยื่นคำร้องขอแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดไปแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นการเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

          4. ผู้จัดการมรดกตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น กลายเป็นบุคคลล้มละลาย ความเป็นผู้จัดการมรดกก็สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538   เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ย.เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ต่อมา ย.ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้กองมรดกของผู้ตายไม่มีผู้จัดการมรดก แม้ขณะที่ ย.เป็นผู้จัดการมรดกอยู่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกกับทายาทบางคน ก็ไม่ปรากฏว่า ย.ได้แบ่งทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ทายาทอีกสองคนคือ ก.และ พ. มิได้ตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ดังนั้น การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงมีเหตุขัดข้องต้องตั้งผู้จัดการมรดกอีก

          5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือ เมื่อมีการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีมรดกอะไรให้จัดการอีกต่อไป ความเป็นผู้จัดการมรดกก็สิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มต้นนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ทายาทจะมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่เกิดความเสียหายแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2551  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547   เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
          แต่ในกรณีที่การแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การจัดการมรดกก็ยังไม่ถือว่าสิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความจัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558   การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557   อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับ และถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557   ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
         

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,539