จ้างคนอื่นให้นำเงินตัวเองไปปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยเกินร้อย 15 ต่อปี ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนได้

       นายทุนเดี๋ยวนี้ฉลาด ยืมมือคนอื่นทำประโยชน์โดยใช้วิธีการให้นำเงินของตนเองไปปล่อยเงินกู้นอกระบบ คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้ผลประโยชน์กับผู้ที่นำเงินไปปล่อยกู้ และรับประโยชน์กลับคืนมาได้

          ก่อนนำเงินไปปล่อยนายทุนจะให้ตัวแทนของตนเองทำสัญญากู้ยืมเงิน ไว้เพื่อเป็นหลักประกัน เมื่อตัวแทนได้รับเงิน ก็เอาไปปล่อยกู้นอกระบบ เมื่อลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยเข้ามา ตัวแทนก็จะนำส่งผลประโยชน์ให้กับนายทุน ส่วนตัวแทนก็หักส่วนต่างตามที่ได้ตกลงกับนายทุนไว้ และหากนายทุนไม่สามารถนำเงินต้นกลับมาคืนนายทุนได้ นายทุนก็จะนำสัญญากู้ไปฟ้องร้องกับตัวแทน

          ซึ่งการกระทำดังกล่าวของนายทุนกับตัวแทน ถือเป็นข้อตกลงและเป็นการทำนิติกรรมที่ต้องห้ามตามกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะการตกลงว่าจะนำเงินไปปล่อยกู้ให้เรียกดอกเบี้ยร้อยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงระหว่างนายทุนกับตัวแทน ย่อมตกเป็นโมฆะเพราะเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้บังคับได้

ดังนั้น หมายความว่าสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายทุนกับตัวแทน ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้ตัวแทนชดใช้ได้ มาดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกากันครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2558

โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 หลายครั้งเพื่อปล่อยกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ 5 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 60 ต่อปี อันเป็นการกระทำผิดอาญาตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3(ก) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่านิติกรรมดังกล่าวสามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะตามความใน ป.พ.พ.มาตรา 173 ได้หรือไม่ เห็นว่า ควรวินิจฉัยเสียก่อนว่านิติกรรมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ คดีนี้เป็นกรณีที่ฝ่ายโจทก์ทั้งสองมอบหมายให้จำเลยที่ 1 นำเงินไปให้บุคคลภายนอกกู้ยืมเงินแล้วนำผลประโยชน์มามอบให้ ซึ่งกรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนในกิจการดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 กรณีเช่นนี้จึงไม่สามารถแยกต้นเงินออกจากดอกเบี้ยซึ่งเป็นโมฆะดังเช่นนิติกรรมการกู้ยืมเงินทั่วไปได้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนต้นเงิน 15,000,000 บาทและ 7,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับหรือไม่ เห็นว่าแม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสองจะบัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับก็ตาม แต่ตามมาตรา 411 ก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าบุคคลใดได้กระทำเพื่อการชำระหนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปปล่อยให้บุคคลภายนอกกู้ยืมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปโดยใช้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเงินกู้ไว้ และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มาทำบันทึกค้ำประกันการชำระหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีแล้วโจทก์ทั้งสองหาอาจเรียกร้องคืนได้ไม่

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,238