หนี้จากการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด มีอายุความ 2 ปี

       ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ที่มีเงินเดือนประจำ หรือทำธุรกิจต่างๆ มักจะขอสินเชื่อบัตรเครดิตกับสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งนี้ ด้วยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ และบัตรเครดิตนั้นเอง หากใช้เป็นก็เกิดประโยชน์ กลับกันหากใช้ไม่เป็น ใช้ฟุ่มเฟือย จะเกิดโทษมหันตภัยเลยล่ะครับ หลายคนโทรเข้ามาปรึกษาว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตทำยังไงดีครับ/ค่ะ ผมตอบให้เลยนะครับ “ใช้หนี้ตามที่คุณใช้นั่นแหละครับ” ฉะนั้นจึงให้ตระหนักก่อนที่จะใช้รูดซื้อสินค้าและบริการว่าในภายหลังจะมีเงินเพียงพอชำระหรือไม่ ซึ่งเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคน เช่น พ่อแม่ไม่สบาย เลี้ยงดูลูกคนเดียว เงินเดือนไม่พอใช้ ขอความเห็นใจอื่นๆมากมาย สถาบันการเงินไม่นำมาประกอบการติดตามหนี้นะครับ

         หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ  มีอายุความ 2 ปี   รวมถึงหนี้จากการถอนเงินสดในบัตรเดียวกันนั้นด้วย เนื่องจากเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกันจึงมีอายุความ 2 ปี  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้

           ตามกฎหมายมาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

           ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551

          หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี     ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้

           การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า   "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์และได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรวมทั้งถอนเงินสดรวมเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท และโจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการแทนจำเลยไป หลังจากนั้นโจทก์แจ้งยอดใช้จ่ายให้จำเลยทราบ จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มกราคม 2539 โจทก์หักทอนบัญชีถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยมีหนี้ค้างชำระจำนวน 182,941.05 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาตามหนังสือและใบตอบรับในประเทศ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า หนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตที่โจทก์นำมาฟ้องรวมถึงหนี้ที่จำเลยใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติหรือสำนักงานสาขาของโจทก์จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท และยังมีค่าธรรมเนียมถอนเงินสดจำนวน 6,840 บาท ด้วย ซึ่งการใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปให้บุคคลอื่นก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากจำเลย แต่เป็นกรณีที่จำเลยถอนเงินสดของโจทก์ออกไปใช้อันมีลักษณะเช่นเดียวกับการเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ หนี้ในส่วนของการถอนเงินสดจึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) และเมื่อไม่มีกำหนดอายุความไว้จึงใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นั้น เห็นว่า สำหรับบัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้อันเกิดจากการถอนเงินสดหรือหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ย่อมเป็นหนี้อันเกิดจากสัญญาใช้บัตรเครดิตเดียวกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจจะแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2544 ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ นางจุฑามาศ จำเลย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,509