ผู้ใดรู้ว่ากำลังจะถูกฟ้องหรือถูกฟ้อง ได้ทำการการย้าย ซ่อน โอน ทรัพย์สิน ผู้นั้นมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้!!

       บทความนี้ผมขอให้คำแนะนำกับท่านทั้งหลายที่ ณ ตอนนี้กำลังตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งและกำลังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี หากท่านมีทรัพย์สิน เช่น มีชื่อเป็นเจ้าของบ้าน โฉนดที่ดิน รถยนต์ หรือทรัพย์สินอื่นๆที่โจทก์สามารถบังคับคดีกับท่านได้ หากท่านกำลังมีความคิดว่า ถ้าเราโอน เปลี่ยนชื่อ ทรัพย์สินออกไปเป็นชื่อของบุคคลอื่นเสียตอนนี้ เจ้าหนี้ก็จะไม่สามารถบังคับคดีได้ เพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ยึด ขอแจ้ง ณ ตอนนี้เลยว่าอย่าทำเด็ดขาด เพราะการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นเจ้าหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2557

         ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม  ป.อ. มาตรา 350   ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070 - 16072/2555

          ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2555

          แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงบุคคลผู้ชนะคดีและคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องหรือแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2555

       ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้   โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          เตือนให้ทราบ อย่ากระทำเด็ดขาดนะครับ มิเช่นนั้นนอกเสียจากต้องชำระเงินในคดีแพ่งตามคำพิพากษาแล้ว คุณอาจจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาซึ่งมีโทษจำคุกด้วย เรื่องราวจะยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน
#1 โดย: บังอร [IP: 27.55.87.xxx]
เมื่อ: 2020-08-20 15:13:28
ดีค่ะช่วยคนที่ไม่รู้กฎหมาย
#2 โดย: เหมย [IP: 182.232.191.xxx]
เมื่อ: 2020-11-02 00:01:18
สามีซื้อบ้านแล้วไม่ได้ผ่อนมาประทาน 10ปี. แต่ทางธนาคารฟ้องเราก็ไปเจจรากับเจ้าหนี้เพื่อขายแต่ขายไม่ได้. แต่มีเจ้าหนี้อีกเจ้ามาฟ้อง. ต่อ. ส่วนก่อนหน้านี้สามีได้ทรัพยที่ดิน 3งานจากพ่อมาโอนไห้เขา. แต่เราเป็นภรรยา เขาโอนมาไห้เรา. ประทาน 3ปี. หลังจากนั้นอย่ากัน ได้1ปี. ทางศาลได้ฟ้องสามี. ล้มละลาย. พร้อม. พิทักทรัพย์. เมื่อ. 1กันยายน
ปี2563ที่ผ่านมา. เราจะโดนยึดทรัพย์คืนไหม. หรือสามีเก่า. จะ. โดนคดีอาญาหรือไม่. เพราะสามีโอนมาก็ผ่านระยะเวลา มา3ปี. แต่เพิ่งโดนฟ้องล้มละลาย. พอทักทรัพย์. ที่ผ่านมาคือเดือนกันยายน. 2563. หรือถ้าโดนคดี. อาญา. มีทางออกหรือไม่. ช่วยตอบได้ไหมค่ะ เครียดมาก. ขอบคุณค่ะ
#3 โดย: ลา [IP: 184.22.161.xxx]
เมื่อ: 2024-03-03 14:16:38
ตอนนี้เป็นไงบ้างคะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,514