ตอนที่ 16 นายจ้างจะสั่งย้ายลูกจ้างได้ทุกกรณีหรือไม่ ?
ได้ขึ้นชื่อว่า “นายจ้าง” ย่อมมีอำนาจสั่งการและบังคับบัญชาลูกจ้างได้ หากลูกจ้างใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง
นายจ้างย่อมมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้
แล้วปัญหามีว่า นายจ้างจะสั่งลูกจ้างได้ทุกกรณีหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” ครับ
นายจ้างจะสั่งลูกจ้างได้เฉพาะเกี่ยวกับหน้าที่ในการทำงานเท่านั้น
จะสั่งให้ไปซื้อกับข้าว(นอกหน้าที่) หรือ
สั่งให้ไปซักผ้าที่บ้านอันไม่ใช่หน้าที่ปกติของลูกจ้างย่อมทำไม่ได้ ลูกจ้างไม่ไป
ไม่ทำ จะไปลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งไม่ได้
แล้วถ้าสั่งในหน้าที่ เช่น สั่งย้ายตำแหน่งของลูกจ้าง
สั่งให้ไปทำงานอีกสถานที่ๆอยู่ห่างไกลโดยที่ลูกจ้างไปลำบาก อย่างนี้จะทำได้หรือไม่
นายจ้างบางคนก็อาจบอกว่าสั่งได้สิ เพราะมันเป็นคำสั่งในหน้าที่
สำหรับเรื่องคำสั่งในหน้าที่นั้น กฎหมายบอกว่าจะสั่งได้ต่อเมื่อ “เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
และ เป็นธรรมกับลูกจ้างเท่านั้น”
คำสั่งบางอย่างแม้จะชอบด้วยกฎหมายแต่ก็อาจไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง
เมื่อลูกจ้างไม่ทำตามคำสั่งก็จะลงโทษลูกจ้างไม่ได้ เรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานทำนองนี้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166-167/2546 คำสั่งของนายจ้างที่สั่งย้ายลูกจ้างซึ่งมีรายได้น้อยให้ไปทำงานที่โรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่จังหวัดเพชรบุรี
ห่างจากสถานที่ทำงานเดิมถึง 120 กิโลเมตร
โดยนายจ้างไม่จัดที่พักหรือไม่จัดหารถรับส่งในการไปทำงานให้
อีกทั้งลูกจ้างไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้
เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างเป็นอย่างยิ่ง
ยากที่ลูกจ้างซึ่งมีรายได้น้อยอยู่แล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างได้
จึงมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง คำสั่งของนายจ้างแม้จะชอบด้วยกฎหมาย
แต่ก็ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง
การจะพิจารณาว่ากรณีใดเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมต้องพิจารณาเป็นรายกรณีๆไปนะครับ
เรื่องนี้เป็นเพียงกรณีศึกษาเทียบเคียงให้เราได้เห็นหลักการวินิจฉัยของศาลท่านเท่านั้นครับ
By ทนายนำชัย ปรึกษากฎหมาย โทร 086-3314759 หรือ แอดไลน์ @closelawyer
หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments