คดีเช็ค!! หากผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ

       อายุเป็นเพียงตัวเลข (คำปลอบใจของผู้สูงวัยทั้งหลาย) แต่ “อายุความ” อาจทำให้คุณได้สิทธิหรือเสียสิทธิตามกฎหมายได้

        คดีเช็คนั้น ถือเป็นคดีที่เป็นความผิดอันยอมความได้  ซึ่งอายุความฟ้องคดีเช็คในทางอาญานั้น  กฎหมายได้กำหนดว่า

          “ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96)”

          “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิด มายังศาลภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันกระทำความผิด สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึง หนึ่งปี (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4))”

          ดังนั้น ในการร้องทุกข์คดีเช็ค ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ หรือ ฟ้องคดี(กรณีให้ทนายความฟ้องคดีแทน) ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือหากมีการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนแล้ว ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้น ต้องถือว่าคดีขาดอายุความ ไม่สามารถเอาผิดทางอาญากับผู้ที่ออกเช็คนั้นได้ เรามาดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกากันครับ

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2515

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ หลังจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค 5 เดือนเศษ โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2515

          ผู้เสียหายนำเช็คของจำเลยไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าให้นำเช็คมาเบิกเงินใหม่ต่อมาได้นำไปเข้าบัญชีอีกครั้ง ธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินอีกโดยอ้างว่าเกินข้อตกลง ดังนี้ ถือว่าผู้เสียหายได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก เมื่อผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันนั้นคดีที่ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ย่อมขาดอายุความ

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2531

         แม้โจทก์จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยภายในกำหนดอายุความสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) แล้วก็ตามเมื่อในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 วรรคแรก

       เป็นไงกันบ้างละครับ  พออ่านมาถึงตรงนี้ รู้กันแล้วใช่มั๊ยครับว่า หากเราเป็นผู้ทรงเช็ค เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงินแล้วเราได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินธนาคาร แต่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้ว และธนาคารได้คืนเช็คให้กับเรา ในทางกฎหมายถือว่าเราได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวแล้ว เราต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือ หาทนายความยื่นฟ้องคดีให้ ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารคืนเช็คแก่เรา

          ตัวอย่างเช่น นายเอเป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารกรุงไทยเป สาขาบางนา (ธนาคารเจ้าของเช็ค) จำนวน 500,000 บาท ลงวันที่ 19 เมษายน 2560  ซึ่งนายบี เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คให้แก่นายเอ โดยเช็คถึงกำหนดชำระวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ในวันดังกล่าวนายเอได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงไทยเป สาขาบางพลี ต่อมาธนาคารกรุงไทยเป สาขาบางนา ได้ปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในวันที่ 20 พฤษภาคม 2560 และได้แจ้งให้นายเอมารับเช็คคืนในวันที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องถือว่ามีการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคือนายบี ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2560  ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค นายเอจะต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือมอบหมายให้ทนายความฟ้องคดีกับนายบี ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 ครบกำหนดอายุความวันที่ 30 สิงหาคม 2560 เป็นต้น  (ป.อ.มาตรา 96)

      อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร้องทุกภายในกำหนด 3 เดือนแล้วก็ตาม หากนายบี หนี ตำรวจจะต้องจับตัวนายบีมาฟ้องคดีภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ตัวนายบีมาฟ้องคดี ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความด้วยเช่นกัน (ป.อ.มาตรา 95 วรรคแรก ประกอบ (4))

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,225