ตอนที่ 12 นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาถือเป็นการเลิกจ้าง
สังคมทุกวันนี้วุ่นวายและยุ่งเหยิงเข้าไปทุกวัน
ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมแรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ มีการหัวหมอ ใช้เทคนิคหรือช่องว่างของกฎหมายเพื่อเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่คำนึงมนุษยธรรม
หลายครั้งที่ลูกจ้างเองก็หัวหมอกับนายจ้าง เป็นเด็กเกเรไม่น่ารักหาช่องหาประโยชน์แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบทุจริตต่อหน้าที่เบียดบังเวลาของนายจ้าง
แต่โดยส่วนมากแล้วนายจ้างก็มักจะมีอำนาจ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบเครื่องกว่าลูกจ้าง
ในการที่จะหัวหมอกับลูกจ้าง เช่น เมื่อไม่อยากจ้างลูกจ้างต่อก็มักจะตั้งข้อหาว่าลูกจ้างทุจริตลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์บ้างแล้วเอาคดีอาญาบีบลูกจ้างเพื่อให้เขียนใบลาออก
บางรายถึงขนาดแจ้งความดำเนินคดีกับลูกจ้าง แล้วก็เป็นภาระของลูกจ้างในการต้องเข้าไปสู้คดีอาญา
ซึ่งก็ต้องประกันตัวลำบากกันเข้าไปอีก
อีกกรณีหนึ่งที่นายจ้างมักจะใช้ในการเลิกจ้างโดยไม่อยากจ่ายค่าชดเชยก็คือ
การสั่งพักงานลูกจ้างแบบไม่มีกำหนดเวลา แบบว่า พักไปเรื่อยๆว่างั้น รอได้ก็รอไป
รอไม่ได้ลูกจ้างก็ไปหางานใหม่เอง ลูกจ้างไม่รู้กฎหมายก็เสียเปรียบทั้งขึ้นทั้งร่อง
กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 118 วรรคสอง
“คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2545 การที่นายจ้างสั่งด้วยวาจาพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาและไม่ได้มีการจ่ายค่าจ้างให้
เป็นกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา
118 วรรคสอง แพ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
ถือว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่สั่งพักงาน”
สรุปว่า สาระสำคัญของการเลิกจ้างอยู่ตรงที่
“นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถือเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานแล้ว”
By ทนายนำชัย ปรึกษากฎหมาย โทร 086-3314759
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments