5 ความแตกต่าง ระหว่างสิทธิในที่ดิน 3 ประเภท ( โฉนด นส.3ก และ สปก.4-01)

     ขึ้นชื่อว่า”ผู้มีสิทธิในที่ดินแล้ว” ก็ดูคล้ายจะเป็นเจ้าของเหมือนกันหมด      แต่หากพิจารณาในแง่มุมของกฎหมายแล้ว สิทธิในที่ดินแต่ละประเภทนั้น แตกต่างกันไปในหลายประการ 

        1.รูปแบบของเอกสารสิทธิ

        โฉนด –เป็นหนังสือที่กรมที่ดินออกให้ในฐานะหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ มีตราครุฑสีแดง ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีสิทธิ์ ใช้สอย ซื้อขาย ทำประโยชน์ได้เต็มรูปแบบ มีการรังวัด ปักเขตอย่างชัดเจน

        นส. – เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกให้กับผู้ครอบครองที่ดิน มีครุฑสีเขียว  ไม่มีการรังวัด แต่ใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศ ผู้มีชื่อมีสิทธิครอบครอง ซึ่งหากมีการสอบเขตอย่างแน่นอนแล้ว สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดได้

        ส.ป.ก. 4-01 - เป็นที่ดินของรัฐ  ถือครองโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่อนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ด้วยการอยู่อาศัยและใช้ทำเกษตรกรรม  ผู้มีชื่อไม่สามารถใช้ทำนิติกรรมใดๆได้

        2.สิทธิในที่ดิน

        โฉนด – ผู้มีชื่อในโฉนดจะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1373 และเมื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว ในฐานะเจ้าของที่ดิน ก็ย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย

          แต่อย่างไรก็ดี หากผู้มีชื่อในโฉนดนั้น ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ฝ่ายที่เสียหายก็สามารถนำสืบพยานหักล้างเป็นอย่างอื่นได้   

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2538 ข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1373มีความหมายว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฝ่ายที่อ้างว่ามิได้เป็นเช่นนี้จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

        นส. – ผู้มีชื่อในเอกสาร นส.3 ก เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและใช้ทำประโยชน์ในที่ดินได้ตามปกติ มีอำนาจใช้สอยทรัพย์และเรียกรับดอกผลจากตัวทรัพย์ เรียกคืนการครอบครองจากบุคคลภายนอกได้ เช่นเดียวกับกรรมสิทธิ์

        ส.ป.ก 4-01  – ผู้มีชื่อในเอกสาร มีสิทธิ์ใช้สอย อาศัย และทำประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมได้ในที่ดิน มีสิทธิสร้างยุ้งฉาง ขุดบ่อ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆอันเกี่ยวกับเกษตรกรรม

        3.การนำออกจำนอง

        โฉนด – ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สามารถนำที่ดินออกจำนองได้ด้วยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ตามหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        นส.ก – ผู้มีสิทธิครอบครองสามารถนำ นส.3 ก ออกจำนองได้ด้วยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน ณ อำเภอ ที่ นส.3 ก อยู่ในเขตอำเภอนั้น

        ส.ป.ก 4-01 -   ที่ดินส.ป.ก.เป็นกรรมสิทธิของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ออกให้ราษฎรเพื่อใช้ทำการเกษตรเท่านั้น เกษตรกรผู้มีชื่อเป็นผู้ถือครองประโยชน์ในที่ดินไม่ใช่เจ้าของ ดังนั้นไม่สามารถนำที่ดินออกจำนองได้ เว้นแต่ในบางโครงการของรัฐจะอนุญาตให้ใช้ “สิทธิทำกินในที่ดิน” เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ ก็สามารถนำเอาสิทธิทำกินในที่ดินเป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้เช่นกัน

        4.การโอนเปลี่ยนมือ

        โฉนด – การโอนกรรมสิทธิในที่ดิน เป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

        นส .ก - ที่ดินที่มีแต่เพียงสิทธิครอบครองยังไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ได้ แต่บุคคลผู้มีชื่อใน นส.3 ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม นส.3 นั้น ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนโอนขายแก่บุคคลอื่นได้ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดินด้วย

        อย่างไรก็ดี   แม้การซื้อขายที่ดิน นส.3 ก โดยไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากผู้ขายยินยอมออกจากที่ดินและส่งมอบการครอบครองให้กับผู้ซื้อแล้ว ก็ย่อมเป็นการสละการครอบครองในที่ดิน หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินดังกล่าวครบ 1 ปี ก็ย่อมมีสิทธิครอบครองได้เช่นกัน

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้วดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

        ส.ป.ก. 4-01  –  ผู้มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดิน ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดิน ไม่อาจแบ่งแยก หรือโอนตัวที่ดินให้กับบุคคลอื่นได้ เว้นแต่จะโอนกลับไปยัง ส.ป.ก. เพื่อให้ ส.ป.ก. นำไปปฏิรูปที่ดินและจัดสรรให้กับบุคคลอื่นต่อไป

         อนึ่ง แม้จะโอนไม่ได้ แต่สิทธิทำกินในที่ดินดังกล่าว ก็ยังสามารถตกทอดเป็นมรดกให้แก่ทายาทได้อยู่ แต่ไม่สามารถทำพินัยกรรมให้กับบุคคลภายนอกได้

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557 เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

         การซื้อขาย หรือ โอน ที่ดิน ส.ป.ก.  เป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่สามารถบังคับได้และมีผลเป็นโมฆะ

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546  ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

         5.การแย่งการครอบครอง

        โฉนด – สามารถถูกแย่งการครอบครองได้ด้วยการ ครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน กล่าวคือ หากมีบุคคลภายนอกเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี บุคคลดังกล่าวก็ย่อมสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งว่าที่ดินเป็นของตนด้วยการครอบครองปรปักษ์ได้

        นส.3 ก – ที่ดินประเภท นส. 3 ก ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมไม่สามารถถูกครอบครองปรปักษ์ได้เช่นเดียวกับที่ดินมีโฉนด แต่ สามารถถูกแย่งการครอบครองได้ด้วยการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี  โดยผู้ถูกแย่งสิทธิครอบครอง ต้องฟ้องคดีต่อผู้แย่งการครอบครองภายใน 1 ปี

        ส.ป.ก. 4-01   แย่งการครอบครองไม่ได้   กล่าวคือ สิทธิทำกินในที่ดิน เป็นสิทธิเฉพาะตัว แม้ไม่ได้ทำกินบนที่ดินแล้ว สิทธิครอบครองก็กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งไม่มีกฎหมายให้บุคคลทั่วไปแย่งการครอบครองได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5773/2534

        ในเขตปฏิรูปที่ดินบุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรเพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 37 ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว....

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน
#1 โดย: 18244 [IP: 101.109.25.xxx]
เมื่อ: 2020-02-07 10:10:51
ความรู้ดีๆ ขอบพระคุณมากครับผม...
#2 โดย: Pronthep123456 [IP: 124.120.27.xxx]
เมื่อ: 2020-06-10 00:34:54
ให้ความรู้มากเลยครับผมจะได้ไม่ซื้อทีดินสปกครับ
#3 โดย: เมย์ [IP: 115.87.1.xxx]
เมื่อ: 2020-09-16 10:31:01
ได้ความรู้มากค่
#4 โดย: สันติ [IP: 182.232.70.xxx]
เมื่อ: 2020-12-06 15:51:16
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ...
#5 โดย: กัลยานีฒจ์ [IP: 27.55.70.xxx]
เมื่อ: 2021-01-08 21:20:20
ขอบคุณค่ะสำหรับการแชร์
#6 โดย: Urai Aranwas [IP: 223.24.169.xxx]
เมื่อ: 2021-03-20 15:55:51
ทำไมสปก เมื่อพ่อแม่ตายแล้วลูกที่แท้จริงเคยทำงานซึ่งมีประกันสังคมถึงจะขึ้นทะเบียนรับมรดกต่อไม่ได้ งง
#7 โดย: วาวา [IP: 182.232.147.xxx]
เมื่อ: 2021-10-26 21:40:29
ส.ป.ก.4-01ข สามารถจำนำได้รึป่าวค่ะ
#8 โดย: ประภาพิมพ์อาบทอง [IP: 49.230.214.xxx]
เมื่อ: 2024-01-10 23:07:48
พื่นที่นอกเขตสปกหมายความวาอะไรคะแล้วต้องทำไงต่อไปคะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,120