ตอนที่ 10 วันหยุดตามประเพณีตามกฎหมายแรงงาน มีวันอะไรบ้าง ?
ท่านผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย
หลายครั้งที่ลูกจ้างและนายจ้างทั้งหลายเข้าใจผิดเกี่ยวกับวันหยุดตามประเพณีตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
(ความจริงวันหยุดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ,
วันหยุดตามประเพณี , วันหยุดพักผ่อนประจำปี , วันหยุดอื่นๆที่นายจ้างกำหนด)
แต่ในวันนี้เราจะมาดูกันในประเด็นเกี่ยวกับวันหยุดตามประเพณีครับว่ามีหลักเกณฑ์การหยุดอย่างไร
พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29 “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปีวันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง
ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้
เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า
จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้”
จากหลักกฎหมายดังกล่าวอธิบายได้ดังนี้ครับ
1)
วันหยุดตามประเพณีเป็นวันหยุดตามกฎหมายที่นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างปีหนึ่งไม่น้อยกว่า
13 วัน
2)
ให้นายจ้างพิจารณาจัดให้ตามวันสำคัญทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น(ให้รวมวันแรงงานแห่งชาติเป็นวันหยุดด้วย)
3)
หากวันหยุดตามประเพณีใดไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดอื่นๆ
ให้หยุดชดเชยในวันถัดไป
4)
ในกรณีที่สภาพงานต้องทำติดต่อกันไปหากหยุดจะเสียหายแก่งาน
หรือ เป็นงานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
นายจ้างจะกำหนดให้ลูกจ้างหยุดในวันอื่นที่ไม่ใช่วันสำคัญทางศาสนาหรือวันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นก็ได้
หรือ จะไม่จัดให้แต่จ่ายเงินค่าจ้างให้แทนก็ได้
หมายเหตุ กรณีจะเห็นได้ว่า
หากนายจ้างจัดวันหยุดตามประเพณีให้ครบ 13 วันแล้ว ถือว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องแล้ว
ดังนั้นแม้ว่าต่อมาทางราชการจะมีคำสั่งให้มีการหยุดราชการ
ก็ไม่ผูกพันนายจ้างที่จะต้องหยุดตามคำสั่งของทางราชการแต่อย่างใดซึ่งลูกจ้างทั้งหลายมักจะเข้าใจผิดในเรื่องนี้กัน
และแม้ว่านายจ้างอาจให้หยุดตามคำสั่งนั้น
นายจ้างก็ชอบที่จะให้ลูกจ้างทำงานชดเชยในวันหยุดตามประเพณีวันอื่นที่ได้เคยประกาศให้หยุดไปแล้วได้
BY-ทนายนำชัย ปรึกษากฎหมาย โทร 086-3314759
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments