ฝ่ายที่ชนะคดีไม่สามารถเรียก”ค่าจ้างว่าความ”(ค่าทนาย) จากฝ่ายที่แพ้คดีได้

             มาดูเหตุผลว่าทำไม? ฝ่ายที่ชนะคดีไม่สามารถเรียก”ค่าจ้างว่าความ”(ค่าทนาย) จากฝ่ายที่แพ้คดีได้

             ในปัจจุบันมีคดีขึ้นสู่ศาลจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากในสังคมปัจจุบันผู้คนไม่ค่อยเคารพสิทธิและหน้าที่ต่อกัน จึงมีการละเมิดสิทธิหรือกระทำการอื่นๆ อันเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้ผู้นั้นถูกโต้แย้งสิทธิและก็ดำเนินคดีกันในที่สุด

ในการดำเนินคดีคนทั่วไปชอบคิดว่าเมื่อเราเป็นโจทก์ที่ชนะคดี หรือเป็นจำเลยที่ศาลยกฟ้องแล้วนั้นจะสามารถเรียก ”ค่าจ้างว่าความ”(ค่าทนาย) จากอีกฝ่ายที่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เสมือนว่าต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่ทำให้คุณเสียหาย

ในคำพิพากษาของศาลจะกำหนดค่าทนายความให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ “ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีคดีที่ไม่มีข้อพิพาทให้ฝ่ายเริ่มคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียม”   

                มาตรา 167  วรรคหนึ่ง “คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกสารบบความ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเพื่อชี้ขาดตัดสินคดีใด ศาลได้มีคำสั่งอย่างใดในระหว่างการพิจารณา ศาลจะมีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับกระบวนพิจารณาที่เสร็จไปในคำสั่งฉบับนั้น หรือในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีก็ได้แล้วแต่จะเลือก”

แต่ทั้งนี้ก็ไม่เท่าจำนวนที่คุณจ่ายไปตามความเป็นจริงหรอกครับ ซึ่งส่วนต่างที่เกิดขึ้นคุณต้องรับผิดชอบเอง ไม่สามารถเรียกจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะเป็นการนอกเหนือจากค่าฤชาธรรมเนียมและเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อรักษาผลประโยชน์และเป็นการใช้สิทธิของตนเอง มิใช่เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดโดยตรงจากคู่กรณี เรื่องนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังนี้ครับ

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2555

                  ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หมายถึงสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ถูกทำให้เสียหาย และจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไปเกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีนี้ เป็นค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลต้องสั่งลงในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว

                 ฉะนั้นแล้วการไกล่เกลี่ยกันก่อนขึ้นศาลแล้วตกลงกันได้ถือว่าประเสริฐที่สุดแล้ว เพราะถ้าหากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว จะต้องสูญเสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และอื่นๆอีก และถึงแม้ว่าคุณจะเป็นฝ่ายที่ชนะได้รับชำระหนี้หรือค่าเสียหายเต็มตามที่ขอ ก็ยังคงต้องเสีย”ค่าจ้างว่าความ”(ค่าทนาย) อยู่ดี  แต่ถึงที่สุดแล้วถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมก็คงต้องดำเนินคดีต่อศาลต่อไปนะครับ นั่นคือสิ่งที่จะบังคับให้เขากระทำการ หรืองดกระทำการ หรือชำระหนี้อื่นๆ ได้ตามคำพิพากษาของศาลนั่นเอง

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


5d7Cr3mZUt

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,566