ตอนที่ 9 นายจ้างไม่ยอมให้เข้าทำงาน และ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง
เรื่องการเลิกจ้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวี่ทุกวันในการจ้างแรงงาน และ
ปัญหาที่มักจะพบบ่อยมากคือนายจ้างไม่ยอมออกหนังสือเลิกจ้างให้กับลูกจ้าง
แต่สร้างเหตุการณ์ขึ้นให้ลูกจ้างเข้าใจว่าตนถูกเลิกจ้างและก็ออกจากงานไป พอลูกจ้างไปร้องเรียนกรมแรงงานหรือไปฟ้องศาล
นายจ้างก็ปฏิเสธว่ายังไม่ได้เลิกจ้างลูกจ้างและลูกจ้างก็สืบให้ศาลเห็นไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้างเมื่อใดและเลิกจ้างด้วยเหตุอะไร
ครั้นลูกจ้างจะกลับไปทำงาน ก็ผ่านไปหลายวันแล้ว บางทีเป็นเดือนแล้ว
นายจ้างก็ยกเหตุว่าลูกจ้างทิ้งงานไปเอง และ ขาดงานเกิน 3 วันทำงาน และ เลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนี้ ทำให้ลูกจ้างก็แพ้คดีในศาล แพ้คดีที่กรมแรงงาน
ปัญหานี้แก้พบเจอบ่อยมาก เพราะลูกจ้างส่วนมากไม่รู้กฎหมาย พอเกิดเหตุการณ์เหล่านี้
ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง วันนี้ขอให้ลูกจ้างทั้งหลายฟังทางนี้
กรณีที่จะถือว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างมีเหตุดังนี้และควรดำเนินการดังนี้
1)
ถ้านายจ้างเลิกจ้างเป็นหนังสือ (อันนี้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรไปฟ้องศาล
หรือ ฟ้องกรมแรงงานได้เลย
แต่จะไปสู้เรื่องเหตุเลิกจ้างว่ามีเหตุให้เลิกจ้างได้หรือไม่)
2)
ถ้านายจ้างเลิกจ้างด้วยวาจา (อันนี้มักจะมีปัญหาเพราะว่าพอไปถึงศาลนายจ้างบอกยังไม่ได้เลิกจ้างงานนี้ถ้าลูกจ้างสืบพยานไม่ได้ก็แพ้คดีไปตามระเบียบ)
3)
นายจ้างไม่ได้เลิกจ้างเป็นหนังสือ
ไม่ได้บอกเลิกจ้างด้วยวาจา แต่สร้างเหตุการณ์บางอย่าง เช่น ไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน
หรือ ยึดอุปกรณ์การทำงาน หรือ พูดจากให้ตีความสองแง่สองง่ามให้ลูกจ้างเข้าใจว่าเลิกจ้าง
หรือ เหตุอื่นๆในทำนองเดียวกัน
งานนี้ลูกจ้างที่ไม่ประสีประสาเรื่องกฎหมายก็เข้าใจว่านายจ้างเลิกจ้าง
ก็กลับบ้านไป ผ่านไปเป็นสัปดาห์ค่อยไปฟ้องที่ศาลแรงงาน นายจ้างก็สู้คดีบอกว่ายังไม่ได้เลิกจ้าง งานนี้ลูกจ้างก็ซวยไปเพราไม่รู้จะเอาพยานหลักฐานที่ไหนไปสู้
4)
ถ้าลูกจ้างเจอกรณีตาม 2) และ 3) ควรดำเนินการดังนี้
ก) ไปพบพนักงานตรวจแรงงานทันทีที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ
เพราะพนักงานตรวจแรงงานจะโทรศัพท์มาสอบถามนายจ้างทันทีที่ท่านไปพบ
หากนายจ้างบอกว่ายังไม่ได้เลิกจ้างก็ให้ท่านเข้าไปทำงานกับนายจ้างต่อไปเพราะไม่เช่นนั้นจะถือว่าท่านทิ้งงานไปเอง
หากนายจ้างยืนยันว่าเลิกจ้างแล้ว
ให้ท่านยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในวันนั้นเลย
ข) นอกจากดำเนินการตาม
ก) แล้วหากท่านไม่ได้ยื่นคำร้องต่อกรมแรงงานเพราะต้องการนำเรื่องไปฟ้องศาล ให้ท่านไปที่สถานีตำรวจในท้องที่
แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับท่านบ้าง
5)
ตามกฎหมายแล้วการเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานอะไร
แค่เลิกจ้างด้วยวาจา หรือ เกิดพฤติการณ์ที่ว่า
นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ก็ถือเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแล้ว และเมื่อเลิกจ้างแล้ว
จะเปลี่ยนใจหรือถอนคืนไม่ได้นะครับ ทั้งนี้เทียบเคียงแนว คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2575/2548
By ทนายนำชัย ปรึกษากฎหมาย โทร 086-3314759
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments