ตอนที่ 6 นายจ้างเลิกจ้างเพราะอ้างว่ากิจการขาดทุน เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่
ผมเชื่อว่า ลูกจ้างเกินกว่า
90 % ไม่รู้ว่าเมื่อถูกเลิกจ้าง จะมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายอย่างไรบ้างนอกเหนือจากค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
เมื่อนายจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด
นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุการทำงาน พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118
หากเหตุที่เลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ลูกจ้างมีสิทธิเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นได้ด้วย
ตาม พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องนี้
แต่ท่านหารู้ไม่ว่า หากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วล่ะก็
ศาลท่านอาจสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นในจำนวนที่สูงกว่าค่าชดเชยเสียอีก
แล้วเหตุยอดฮิต
ที่นายจ้างมักจะยกขึ้นมาเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆนั้นก็คือเหตุว่ากิจการขาดทุน
แล้วท่านทราบหรือไม่ว่า การเลิกจ้างเพราะกิจการของนายจ้างขาดทุน
เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ขอให้ศึกษาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2546
แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง
จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบ
โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ
มาตรา 17 วรรคสอง วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118
ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์รวมทั้งพนักงานอื่นเพื่อลดขนาดขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากจำเลยประสบกับการขาดทุนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม
แต่ปรากฏว่าปี 2543 จำเลยมีกำไร และปี 2544 จำเลยได้ซื้อที่ดินราคา 9,000,000 บาทเศษ
ด้วยเงินสดส่วนหนึ่งและเงินกู้ธนาคารอีกส่วนหนึ่ง
แสดงว่าจำเลยมิได้ขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดจำนวนลูกจ้าง
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิด
กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ
มาตรา 49
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2543 และ 1850/2547 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
สรุปคือ
“ถ้าขาดทุนไม่จริงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมครับ”
ปรึกษากฎหมายคดีแรงงานกับทนายนำชัย โทร 086-3314759
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments